วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

ศบค. เตือนการติดเชื้อภายในครอบครัว ถึงร้อยละ 56 วอนช่วงสงกรานต์ อยู่บ้าน ขอให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเสมอ

10 เม.ย. 2020
408

เมื่อวันที่ 11เม.ย.63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน สรุปสาระสำคัญ ดังนี้1. แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี         

วานนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามผู้อำนวยการศูนย์ ศบค. รายงานความคืบหน้ามาตรการการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย 6 ด้าน ประกอบด้วย
1. การแพทย์และสาธารณสุข  2. การป้องกันและช่วยเหลือประชาชนและการรักษาความมั่นคง  3. การควบคุมสินค้า
4. การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ  5. การต่างประเทศ และ 6. การสื่อสารในสภาวะวิกฤติ พร้อมทั้งประกาศข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  ฉบับที่ 3 ยกเว้นกิจกรรมช่วงเคอร์ฟิว 7 ข้อ ได้แก่ 1) การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่  2) การสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์และผู้ดูแลบุคคล 3) การขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน  4) การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน 5) การบริการหรือการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน 6) การประกอบอาชีพซึ่งจำเป็นต้องกระทำภายในช่วงเวลาพิเศษ และ 7) เหตุจำเป็นอื่น ๆ โดยได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่

 2. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทย

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ พบผู้ป่วยใหม่ 45 ราย รวมจำนวนผู้ป่วยสะสม 2,518 ราย หายป่วยแล้ว 1,135 ราย ตัวเลขจังหวัดอยู่ที่ 68 จังหวัด เสียชีวิตรวม 35 ราย โดยตัวเลขผู้ป่วยใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะหลัง โยงกับผู้ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย และไปอยู่ในพื้นที่ State Quarantine 45 คน โดยสะสมเป็น 56 ราย เพราะบวกเพิ่มขึ้น 9 ราย โดยที่สงขลาพบ 8 ราย กรุงเทพฯ 1 ราย จึงทำให้ตัวเลขผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ 45 ราย ลดลงจากเมื่อวานที่ 50 ราย และวันก่อนหน้าอยู่ที่ 54 ราย หากลดลงได้มากกว่านี้จะเป็นเรื่องดีซึ่งเราต้องช่วยกัน

ผู้ที่เสียชีวิต 2 ราย รายแรก เป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายที่ 34 เป็นชายไทยอายุ 46 ปี อาชีพทำงานในโรงรับจำนำ มีโรคประจำตัวคือโรคอ้วน มีประวัติอาศัยอยู่กับแม่และน้องสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 และกำลังรักษาตัวอยู่  ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง 39 องศา และไอ เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ วันที่ 1 เมษายน 63 แพทย์ส่งตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ผลตรวจให้ผลลบ แพทย์ให้ยาต้านไวรัส พร้อมกับส่งตรวจโควิด-19  ผลตรวจยืนยันว่ามีเชื้อโควิด-19 ต่อมา 9 เมษายน 63 ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันเดียวกัน รายที่ 35 เป็นผู้ป่วยชายไทยอายุ 65 ปี อาชีพพนักงานทำความสะอาดในกรุงเทพฯ เริ่มมีอาการตั้งแต่ 11 มีนาคม 63 ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย เข้ารับการรักษา 24 มีนาคม 63 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพะเยา ส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B ก็ให้ผลลบ ส่งตรวจโควิด-19 ผลตรวจยืนยันมีเชื้อโควิด-19 วันที่ 28 มีนาคม 63 มีอาการหนักขึ้น เหนื่อยหอบมากขึ้น แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ จากนั้นผู้ป่วยก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย เสียชีวิต 10 เมษายน 63 ซึ่งขอแสดงความเสียใจกับทั้งสองรายด้วย

โฆษก ศบค. กล่าวถึงประวัติเสี่ยงของกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ 45 รายว่า พบว่า กลุ่มก้อนใหญ่มีประวัติการสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 23 ราย สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่คือกรุงเทพฯ 8 ราย ปัตตานี 7 ราย ภูเก็ต 3 ราย ที่ต้องเน้นคือกลุ่มที่สองที่อยู่ในกลุ่มย่อยนี้ คือคนไทยกลับมาจากต่างประเทศ จากอังกฤษ 2 คน อยู่ในพื้นที่ชุมชน ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า 3 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 4 ราย  และเมื่อแยกกลุ่มออกมา การตรวจซ้ำผู้ที่อยู่ใน State Quarantine จังหวัดสงขลา พบ 8 ราย และการตรวจซ้ำผู้ที่อยู่ใน State Quarantine ที่กรุงเทพฯ ก็พบอีก 1 รายเป็นผู้ที่มาจากสหรัฐอเมริกา จึงอยากเน้นย้ำว่าคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศต้องได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ

ด้านการกระจายตัวสะสมของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งประเทศ ขณะนี้ยังคงที่เหมือนเดิม กรุงเทพฯ สะสมมากที่สุด 1,280 ราย ภูเก็ต 172 ราย นนทบุรี 148 ราย สมุทรปราการ 106 ราย ยะลา 77 ราย  มี 9 จังหวัดที่ยังไม่มีการรายงานรับผู้ป่วย ซึ่งขอชื่นชมและขอให้ดูแลกันทั้งจังหวัดด้วย เพื่อให้เป็นจังหวัดที่ยังเป็นสีเขียวอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ และนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ 

จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน ที่มากที่สุดยังเป็นจังหวัดภูเก็ตคือ 41.61 กรุงเทพฯ 22.57 ยะลา 14.41 สำหรับการกระจายตัวของผู้ป่วยรายใหม่ 45 ราย มีการกระจายตัวที่กรุงเทพฯ มากที่สุด 17 ราย ทั้งนี้ จังหวัดไหนที่มี State Quarantine จะแยกตัวเลขผู้ป่วยออกมา เพื่อไม่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยของจังหวัดเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณทั้งจังหวัดและพี่น้องประชาชนที่ยอมรับให้มีพื้นที่ State Quarantine ดูแลพี่น้องประชาชน  โดยสงขลามีผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายที่มาจาก State Quarantine  ขณะที่การกระจายตัวของผู้ป่วยรายใหม่ที่ปัตตานี 7 ราย ภูเก็ต 6 ราย ปทุมธานี 3 ราย

โฆษก ศบค. กล่าวถึงแผนภูมิการกระจายตัวของผู้ป่วย ระหว่างกรุงเทพฯ นนทบุรี และต่างจังหวัด ที่จะเห็นว่าเป็นการกระจายไปที่ต่างจังหวัดอยู่มาก ซึ่งเกิดขึ้นจากคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ขณะที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ลดลง ทั้งนี้ จังหวัดที่มีความชุกของโรคโควิด-19 สูง คือชลบุรี โดยการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ชลบุรี  มีการปิดสถานบันเทิง หลังพบมีผู้ติดเชื้อวันที่ 17 มีนาคม 63 แล้วมีตัวเลขผู้ติดเชื้ออีกครั้งวันที่ 22 มีนาคม 63 โดยพุ่งขึ้นมา 14 ราย จากนั้นมาก็มีผู้ป่วยมากขึ้น ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจึงมีมาตรการปิดเกาะ ปิดห้าง และสวนสาธารณะ ต่อมาวันที่ 26-29 มีนาคม 63 ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่ปรากฏตัวเลขผู้ป่วยสัมผัสอยู่ที่บ้าน ที่อาจมีการไปนั่งกินดื่ม นั่งคุยกัน ผู้อาศัยอยู่ร่วมบ้านไม่มีระยะห่าง ทำให้ตัวเลขต้นเดือนเมษายนยังพุ่งขึ้นอยู่เรื่อย ๆ ฉะนั้น จึงมีการปิดหาด โรงแรม ห้ามเข้า-ออกพัทยา ขอให้พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือกับจังหวัดในการลดโรคให้ได้มากที่สุด

โฆษก ศบค. กล่าวถึงการวิเคราะห์ลักษณะการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 รายก่อนหน้า โดย ช่วง 4 – 10 เมษายน 2563 พบผู้ป่วยทั้งหมด 495 รายทั่วประเทศ เป็นผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า จำนวน 144 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 ของผู้ป่วยทั้งหมด พบกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ครอบครัว 81 ราย คิดเป็น 56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งที่ใกล้ชิดกันที่สุดคือสามีภรรยา 35 คน บิดามารดา 20 คน ญาติอื่น ๆ / ผู้อาศัยร่วมบ้าน 17 คน  บุตร 9 คน จึงต้องขอให้ทุกคน งด ลด เลิก กิจกรรมสงกรานต์ ต้องอยู่บ้านด้วยกันมากขึ้น เพราะทุกคนเป็นคนเสี่ยงอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น ขณะที่กลุ่มรองลงมา คือกลุ่มสถานที่ทำงาน พบว่า มีผู้ป่วยยืนยัน 33 คน เป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ที่มารับบริการหรือติดต่อ และอื่น ๆ คือ มีการมารวมกลุ่มกัน พบปะเพื่อน คนรู้จัก ส่วนใหญ่รับประทานอาหารเครื่องดื่มร่วมกัน 26 ราย ดังนั้น สงกรานต์นี้ถ้ากลับไปอยู่บ้าน หากนั่งพูดคุยกัน หรือดื่มกัน จะมีโอกาสติดโรคได้ทันที ต้องขอให้ตระหนักไม่ใช่ให้ตระหนก

3. สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ของโลก

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของโลก มีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ ประมาณ 160,000 กว่าราย อาการหนักประมาณเกือบ 50,000 ราย เสียชีวิตไปประมาณ 102,687 ราย มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกาจำนวน 18,719 ราย ใกล้เคียงกับอิตาลีที่มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 18,849 ราย โดยภาพการนำข้อมูลดังกล่าวมาชี้แจงให้เห็นภาพ เพื่อการเรียนรู้และประมาทไม่ได้ แม้จะมีเทคโนโลยีแต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่คน ดังนั้น  ทุกคนต้องร่วมมือกัน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อนับจากวันที่มีผู้ติดเชื้อถึง 100 ราย นั้น เส้นที่มีความชันของกราฟสูงจะเป็นในกลุ่มของประเทศอิหร่าน จีน เกาหลีใต้ อิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ส่วนของประเทศไทยต้องกดตัวเลขของกราฟลงให้ได้โดยเร็วที่สุด ตรงนี้เป็นความสามารถของคนไทยทั้งประเทศที่จะช่วยกัน โดยการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม และอยู่กับบ้านมีระยะห่างระหว่างบุคคล 2 เมตร เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียนทั้ง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตัวเลขของกราฟมีทิศทางยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงในกลุ่มของประเทศ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ยังมีทิศทางพุ่งขึ้น  สำหรับภาพรวมของสหรัฐอเมริกาก็ยังเพิ่มขึ้น เกาหลีใต้นิ่ง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของคนในประเทศ โดยเฉพาะความมีระเบียบวินัย

โฆษก ศบค. กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ รายเดือน ประเทศไทย (ปี 2562 – 2563) เปรียบเทียบกับมัธยฐาน 5 ปี และค่าพยากรณ์ โดยเฉพาะข้อสงสัยเรื่องตัวเลขไข้หวัดใหญ่กับโควิด-19 ว่า จากข้อมูลจากกองระบาดวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของกระทรวงสาธารณสุข จะเห็นว่าตัวเลขสะสมที่เป็นเคสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลทุก ๆ ปี โดยปี 2019 และในปี 2020 พบว่าในเดือนมกราคม มีตัวเลขอยู่ที่ 50,000 กว่า เดือนกุมภาพันธ์ ตัวเลขลงมาที่ 32,000 และเดือนมีนาคม ตัวเลขเหลืออยู่ที่ 10,500 กว่าเท่านั้น ซึ่งตัวเลขของไข้หวัดใหญ่ที่ลดลงเป็นผลมาจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ประชาชนทุกคนให้ความสนใจมาดูแลสุขภาพใส่หน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้ากันมากขึ้นในการป้องกันโควิด -19 จึงมีผลดีไปถึงการควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย รวมถึงโรคปอดอักเสบลดลงด้วย โฆษก ศบค. ยืนยันตัวเลขที่นำเสนอไม่มีการปิดบังใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะต้องการให้ประชาชนรับทราบพร้อมกัน เพื่อพลังของข้อมูลจะได้เปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคน

4. การปฏิบัติงานตามมาตรการเคอร์ฟิวและมาตรการต่าง ๆ

รายงานผลการปฏิบัติการจากการประกาศเคอร์ฟิววันที่ 11 เมษายน 63 พบว่า มีประชาชนที่กระทำความผิดออกนอกเคหะสถานที่ต้องดำเนินคดี  1,065 ราย ลดลงจากเมื่อวานนี้ 87 ราย  มีการมั่วสุม 109 ราย เพิ่มไป 14 ราย ทั้งนี้ ศูนย์ ศบค. ได้มีการรับรายงานข้อมูลทุกวัน  และจะนำมาแจ้งให้ประชาชนรับรู้และรับทราบ  พร้อมขอให้ประชาชนร่วมมือกันให้มากขึ้น เพื่อไม่เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ 

ทั้งนี้ มีมาตรการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวทั้งที่อยู่ในประเทศได้รับการอนุญาตให้คนต่างชาติ  คนต่างด้าว อยู่ต่อเป็นกรณีพิเศษ โดยยังไม่จำเป็นต้องมายื่นต่อใบขออนุญาต เช่น การขอ Visa การยื่นขอ Work permit เพื่อมิให้เกิดการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากในขณะนี้  

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแต่ละจังหวัด อาทิ จังหวัดสกลนครสั่งเข้มออกประกาศปิดโรงแรมทุกแห่ง และห้ามรวมตัวกันเกิน 5 คน ผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างพื้นที่เพื่อพำนักอยู่ในจังหวัดสกลนครต้องรายงานตัวต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. สำหรับมาตรการดูแลคนไทยเดินทางกลับประเทศ พบว่า วันนี้จะมีผู้เดินทางเข้าประเทศจากรัสเซีย 34 คน และ ญี่ปุ่น 1 คน

5. ศูนย์ปฏิบัติการการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน 

ศูนย์ปฏิบัติการการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานศูนย์ฯ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ได้รับหน้ากากอนามัยจำนวน 14,427,500 ชิ้น อยู่ระหว่างการจัดส่ง 2,889,100 ชิ้น และจัดส่งไปแล้ว 11,538,400 ชิ้น ซึ่ง 3M ได้จัดส่งหน้ากาก N95 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 63 จำนวน 203,520 ชิ้น กำลังดำเนินการจัดสรรและกระจายไปให้ทางกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

Loading