นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 (ศปถ.) ว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” (29 ธ.ค.63-4 ม.ค.64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,326 คน
โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (115 ครั้ง) ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (18 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (117 คน)
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 33.60% ดื่มแล้วขับ 33.06% พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย 59.33% ดื่มแล้วขับ 25.09% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.54% รถปิคอัพ 6.19% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 65.77% ถนนกรมทางหลวง 37.80% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. 27.45%
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค.64 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ฯ เกิดอุบัติเหตุ 265 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้บาดเจ็บ 271 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 32.45% ตัดหน้ากระชั้นชิด 25.28% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.55% ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 63.02% ถนนกรมทางหลวง 45.28% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 27.55% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. 28.68% ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป 32.76%
ทั้งนี้ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,969 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,996 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 477,652 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 111,030 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 29,963 ราย ไม่มีใบขับขี่ 27,454 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี (3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (13 คน)
รมช.มหาดไทย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับ รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ซึ่ง ศปถ.ได้ประสานจังหวัดบูรณาการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนทุกระดับ ทั้งนี้ ได้กำชับให้จังหวัดถอดบทเรียนและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึกอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนและหมู่บ้าน โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง คือ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ตลอดจนปรับเปลี่ยนทัศนคติ ค่านิยม และสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืนในสังคมไทย
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการ ศปถ. กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 แล้ว ศปถ.โดยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดย ปภ.จะได้บูรณาการทุกหน่วยงานในการวางแนวทางและกำหนดทิศทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนนและลดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในทุกมิติ ควบคู่กับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจ เพื่อสร้างความตระหนักและจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน ท้ายนี้ ปภ.ห่วงใยความปลอดภัยคนไทยทุกคน และขอเชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างถนนทุกสายให้เป็นถนนแห่งความปลอดภัยอย่างยั่งยืน