วันพุธ, 4 ธันวาคม 2567

ธ.ชาติฯเปรียบเทียบความแตกต่างซอฟท์โลน ‘ออมสิน-แบงก์ชาติ’ พร้อมมาตรการพักหนี้

ธปท.สรุปมาตรการสินเชื่อ-ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เปรียบเทียบความแตกต่างซอฟท์โลน ‘ออมสิน-แบงก์ชาติ’ พร้อมมาตรการพักหนี้

รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำข้อมูลสรุปมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 (ข้อมูล ณ 28 เม.ย.2563) โดยเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (soft loan) สำหรับ SMEs ของธนาคารออมสิน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และ soft loan ของธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาท ตามพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

สำหรับเงื่อนไข soft loan ของธนาคารออมสินนั้น SMEs ที่ขอรับการช่วยเหลือ ต้องเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม (บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ชาวไทยถือหุ้นเกินกว่า 50%) คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย โดยสถาบันการเงินบางแห่งอาจคิดค่าธรรมเนียมอื่นๆได้ ทั้งนี้ SMEs สามารถขอสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ร่วมโครงการ สิ้นสุดรับคำขอวันที่ 30 ธ.ค.63

ส่วนเงื่อนไข soft loan ธปท.นั้น SMEs ที่ขอรับการช่วยเหลือ ต้องเป็น SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมของกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ดี ณ 31 ธ.ค.62 รวมทั้งต้องเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ 6 เดือนแรก ทั้งนี้ การยื่นขอสินเชื่อดังกล่าวธปท.จะไม่ให้สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการคิดค่าธรรมเนียมอื่นใดจากลูกหนี้อีก

ขณะที่วงเงินที่ขอสินเชื่อนั้น SMEs จะขอสินเชื่อเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง และ SMEs ดังกล่าว ต้องเป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงิน โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง สิ้นสุดรับคำขอวันที่ 22 ต.ค.63

พร้อมกันนั้น ธปท.ยังเปรียบเทียบข้อแตกต่างกับการพักชำระหนี้ SMEs ตามมาตรการขั้นต่ำ และการพักชำระหนี้ตามพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจฯ โดยเงื่อนไขการพักชำระหนี้ SMEs ตามมาตรการขั้นต่ำนั้น กำหนดให้พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 3 เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ดี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.63

ส่วนการพักชำระหนี้ SMEs ตามพ.ร.ก.นั้น กำหนดให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมของกลุ่มไม่เกิน 100 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ดี โดยให้มีตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย.63

นอกจากนี้ ในส่วนการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL (ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วัน) สามารถเข้าร่วมโครงการตามมาตรการวันที่ 28 ก.พ. 63 โดยการขอปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ ทั้งนี้ ต้องเป็น NPL ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 หรือก่อนหน้านั้นหากสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ เมื่อปรับโครงสร้างหนี้แล้ว สถาบันการเงิน จะเปลี่ยนสถานะของลูกหนี้จากการเป็น NPL ให้เป็นปกติ เมื่อลูกหนี้ได้ชำระเงินตามสัญญาใหม่ ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนหรือ 3 งวดแล้วแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่า

Loading