วันเสาร์, 12 ตุลาคม 2567

ช่วยคนว่างงาน ศธ.เตรียมจ้างผู้ช่วยครูปฐมวัย 6 เดือน กว่า 1 หมื่นคน

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดสรรงบประมาณทุกกระทรวงเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำ และแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และการสนับสนุนอาหารกลางวัน

ศธ.เตรียมจ้างผู้ช่วยครูปฐมวัย 6 เดือน กว่า 1 หมื่นคน

รมว.ศธ. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงจัดสรรงบประมาณตามความต้องการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีงานทำ

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองถึงความต้องการให้บุตรหลานในระดับปฐมวัย ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนา (โควิค-19) ดีขึ้น ซึ่งหากมีการรับนักเรียนในระดับชั้นดังกล่าวกลับมาเรียนที่โรงเรียนในสภาวะการณ์ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียนมากขึ้น จากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นสัดส่วนนักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน หรือนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 3 คน

ดังนั้น ศธ. จะต้องจัดหาผู้ช่วยครูในการดูแลนักเรียน โดยอาจคัดเลือกจากครูระดับปฐมวัยที่สอบบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วย และได้ขึ้นบัญชีไว้แล้วเพื่อรอการบรรจุแต่งตั้ง

ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เช่น การจ้างเป็นผู้ช่วยครู เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้รับอัตราเงินเดือน ๆ ละ 9,000 บาท  ซึ่ง ศธ.มีงบประมาณดำเนินการไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท สามารถจ้างครูช่วยสอนได้ประมาณ 10,000 คน

โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และอาหารกลางวัน

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและการสนับสนุนอาหารกลางวันในโรงเรียน รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมหารือเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 โดยมีข้อสรุปแนวทางดำเนินการที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)   และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน ดังนี้

โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนม จำนวน 260 วันต่อปีการศึกษา ตามประกาศของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ประกาศ ณ วันที่ 1 เมษายน  พ.ศ. 2563 และ (ฉบับที่ 2) ประกาศ ณ วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563 จึงมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้

– กรณีภาคเรียนที่ 1/2563 เปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม  ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563

– กรณีภาคเรียนที่ 1/2563 เปิดภาคเรียนหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หรือกรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ให้นักเรียนบริโภคนมชนิด ยู เอช ที ตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับประทานอาหารกลางวัน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ที่เห็นชอบให้นักเรียนตั้งแต่เด็กเล็ก และชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันทุกคน จำนวน 200 วัน และเพิ่มเงินอุดหนุนจากอัตรา 10 บาทต่อคนต่อวัน เป็น 13 บาท ต่อคนต่อวัน และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ที่ให้เพิ่มเงินอุดหนุนเป็นอัตรา 20 บาท   ต่อคนต่อวัน จึงมีแนวทางบริหารจัดการ ดังนี้

– กรณีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรือกรณีการสลับวันมาเรียน ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายงบประมาณค่าอาหารกลางวันนักเรียนให้แก่ผู้ปกครองนักเรียนเพื่อนำไปจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทานที่บ้าน ทั้งนี้ ให้รวมถึงอาหารมื้ออื่น ๆ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐเคยจัดให้ ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

– กรณีการจัดการเรียนการสอนชดเชย ให้โรงเรียนดำเนินการจัดอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนที่โรงเรียนได้เช่นเดียวกับวันจัดการเรียนการสอนตามปกติ

ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ได้พิจารณาว่า สืบเนื่องจากการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ประกอบกับความประสงค์ให้นักเรียนได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ในช่วงการปิดภาคเรียนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและครบถ้วน  จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดติดตามการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน โดยให้พิจารณาแนวทางการบริหารจัดการให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนที่ไม่ได้มาโรงเรียนได้รับอาหารเสริม (นม) และอาหารกลางวันด้วย กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทุกคนได้รับสิทธิตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนและโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนที่มีคุณภาพถูกหลักอนามัย อย่างต่อเนื่องและครบถ้วน โดยให้สอดคล้องกับปฏิทินการเปิดภาคเรียน

Loading