วันอาทิตย์, 3 พฤศจิกายน 2567

แก้วิกฤต! ‘นายกอ๊อด’ เร่งหาแหล่งกู้เงินผ่าทางตันไทยลีกเพื่อไปต่อได้

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 1 ที่ทำการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการประชุมสภากรรมการ ประจำเดือนสิงหาคม 2563 ภายในที่ประชุมมี พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการฯ, นายยงยศ พึ่งธรรม รองเลขาธิการฝ่ายกฎหมาย

อุปนายกสมาคมฯ ประกอบด้วย นายอรรณพ สิงห์โตทอง อุปนายกฝ่ายพัฒนาฟุตบอลเยาวชน, นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ อุปนายกฝ่ายจัดการแข่งขัน, ดร.ลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์ อุปนายกฝ่ายบัญชีและการเงิน ,นางสาวศิริมา พานิชชีวะ อุปนายกฝ่ายฟุตบอลหญิง ขณะที่สภากรรมการ ประกอบด้วย พล.ร.ต.นิกูล อินทรสุวรรณ, นายมิตติ ติยะไพรัช, รศ.ดร.วิชิต คะนึงสุขเกษม, นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ และร่วมประชุมผ่านทางวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ ประกอบด้วย นายบริพัฒน์ สมมี, นายสมเกียรติ กิตติธรกุล, นายยุทธนา หยิมการุณ นอกจากนี้ยังมี นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขันบริษัท ไทยลีก จำกัด และพล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน โฆษกสมาคมฯ เข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมฯ  กล่าวว่า “วันนี้เป็นการประชุมสภากรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ประจำเดือนสิงหาคม ระเบียบวาระเรื่องสำคัญ ในวันนี้คือ สภากรรมการได้อนุมัติให้บริษัท ไทยลีก จำกัด จัดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 3 โดยสามารถปรับเปลี่ยนการจัดการแข่งขันให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งทางบริษัทไทยลีก จะดำเนินการจัดการแข่งขันให้เป็นไปตามแนวความคิดของสโมสรสมาชิก หลังจากที่ได้มีการประชุม และลงมติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

“เรื่องที่ 2 ก็คือ สภากรรมการได้อนุมัติให้สมาคมฯ ออกค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องให้กับสโมสรไทยลีก 1-3 ที่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขัน เบื้องต้นอาจจะสโมสรละ 50 คน โดยรูปแบบหรือวิธีการตรวจ บริษัท ไทยลีก และสมาคมจะหารือว่าจะทำอย่างไรที่สโมสรสมาชิกจะได้รับความสะดวกมากที่สุด เช่น ตรวจที่ศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข หรือสามารถไปที่ทำการสโมสร ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง”

“ส่วนเรื่องที่ 3 ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับฟุตบอลไทย จากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบไปทุกวงการทั่วโลก ฟุตบอลไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ทั้งสมาคมฯและสโมสร ต่างได้รับผลกระทบ สปอนเซอร์ ผู้สนับสนุน หายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก”

“สมาคมฯ มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพทุกรายการให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น ไทยลีก 1-3 รวมถึงฟุตบอลถ้วย เอฟเอ คัพ และลีก คัพ แต่ด้วยความจำเป็นที่สปอนเซอร์ หรือผู้ได้รับสิทธิ์ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจกันถ้วนหน้า ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น บริษัท ทรูวิชั่นส์ จะรับถ่ายทอดสดฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก ไปจนถึงวันที่ 25 ตุลาคมเท่านั้น ขณะเดียวกัน ธนาคารออมสิน ก็ได้ปรับลดการสนับสนุนการแข่งขันในระดับ ไทยลีก 3 บริษัท โตโยต้า ก็ได้ปรับลดเงินสนับสนุนและยกเลิกการสนับสนุนจัดการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้าลีก คัพ”

“นอกจากนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีหน้าที่หลักคือต้องสนับสนุนภารกิจของทีมชาติไทย และรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างของฟุตบอลของชาติ ต้องให้มีการพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาทีมชาติไทยชุดต่างๆ ทั้ง ฟุตบอลชาย-หญิง ฟุตซอลชาย-หญิง และฟุตบอลชายหาด นี่คือภารกิจหลัก ที่จะต้องดำเนินการ หรือจะต้องรับผิดชอบที่ผ่านมา บุคลากร เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารสมาคมฯ พร้อมใจลดค่าตอบแทนลง 50 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ทั้งผู้ตัดสิน ผู้ประเมินผู้ตัดสิน ผู้ควบคุมการแข่งขัน และทุกฝ่าย เพื่อที่สมาคมจะได้เดินหน้าต่อไปได้ จนกว่าสมาคมจะมีเงินเข้ามาสนับสนุน และสถาการณ์คลี่คลายกว่านี้”

“เพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเดินหน้าต่อไปได้ สมาคมต้องหาเงินเข้ามาเป็นทุนหมุนเวียน ในการจัดให้มีการแข่งขันเกิดขึ้นให้ได้ก่อนจะไปขอรับการสนับสนุน หรือ เก็บค่าลิขสิทธิ์เมื่อการแข่งขันผ่านไประยะหนึ่ง ในช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถหาเงินมาได้ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ สภากรรมการอนุมัติให้หาแหล่งเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกู้เงินระยะสั้น 6 เดือน – 1 ปี แบบปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาหมุนเวียน หรือ สร้างสภาพคล่องให้วงการกีฬาฟุตบอล โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพไทยลีก1-3 และเตรียมพร้อมสำหรับเกมระดับนานาชาติที่อาจจะเกิดขึ้นแม้ว่าตอนนี้จะไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นได้ตามปฏิทินหรือไม่ แต่ทีมชาติไทยก็ต้องพร้อมอยู่ในทุกสถานการณ์ ซึ่งสมาคมฯต้องมีเงินทุนที่เพียงพอในการเตรียมความพร้อมและเดินทางไปแข่งขัน คือสิ่งที่ได้ประชุมในวันนี้”

“เราหวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ ผู้ที่เห็นความสำคัญของวงการฟุตบอลจะได้มีส่วนในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนตัวผมเองก็จะไปเจรจากับหลายๆ ท่าน ผมเชื่อว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานฟีฟ่า และประธานเอเอฟซี ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถหาเงินมาเพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพได้ ซึ่งในไทยลีก 1 มีค่าใช้จ่ายต่อนัดประมาณหลายแสนบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ ค่าผลิตและส่งสัญญาณถ่ายทอดสด ค่าเช่าสัญญาณค่ากรรมการผู้ตัดสิน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ค่าสิทธิประโยชน์ และพื้นที่โฆษณาเพื่อตอบแทนผู้สนับสนุนตามสัญญา ถ้าต้องแข่งกันอีกมากกว่า 100 นัด ก็คิดว่าไม่น้อยเลยทีเดียว เงินที่ใช้หมุนเวียนตรงนี้ เราต้องพยายามหามาให้ได้”

ขณะที่ วีเออาร์ จะไม่มีการนำมาใช้ในการแข่งขันไทยลีกปีนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายราว 87,000 บาท ต่อแมตช์ แต่หากทีมใดพร้อมซัพพอร์ทค่าใช้จ่ายตรงนี้ สามารถเจรจากับทางสมาคมฯได้เลย

Loading